แผนการเรียนรู้ที่ ๑ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
มาตรฐาน ชั้น ป.๑ เวลา ๓ ชั่วโมง.
สาระที่ ๑ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
ความคิดรวบยอด
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา จึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยในด้านต่างๆ
สาระการเรียนรู้
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย
ผลการเรียนรู้
๑.อธิบายความสำคัญของพระพุทธศาสนาได้
๒.บอกเรื่องราวพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้
๓.ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีได้
๔.บรรยายประโยชน์ของการนับถือศาสนาได้
กระบวนการเรียนรู้
มี ๖ ขั้นตอน ดังนี้
๑.ขั้นเกริ่นนำ
ให้นักเรียนร้องเพลง เล่านิทาน เล่นเกม หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อม
นักเรียน เช่น ร้องเพลง หัวใจพระพุทธศาสนา พร้อมกับปรบมือตามจังหวะเพลง
เพลงหัวใจพระพุทธศาสนา
มูลนิธิแสงเทียน
เพื่อนเอยอยากรู้ไหมว่า พระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร
ฟังนะฉันจะบอกให้ จงตั้งใจจดจำให้ดี
หนึ่งละเว้นความชั่ว อย่าเกลือกกลั้วให้เสื่อมศรี
สองสร้างสมความดี ให้ก่อเกิดมีความสุขใจกาย
สามทิ้งความเศร้าหมอง อย่าให้ครองดวงจิตผ่องใส
สามข้อที่กล่าวไป คือหัวใจพระพุทธศาสน์เอย
๒.ขั้นประสบการณ์
ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง ดังนี้
กิจกรรมที่ ๑เรื่อง ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
๑.ครูซักถามนักเรียนว่า นับถือศาสนาอะไร ให้นักเรียนตอบทีละคน จากนั้น ครูและนักเรียนร่วมกันสนทนาว่า นักเรียนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา แล้วทุกคนทราบหรือไม่ว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร และมีความสำคัญต่อเราอย่างไร
๒.ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ดังนี้
-พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา
-พระพุทธศาสนา ได้เผยแผ่จากประเทศอินเดียเข้ามาในประเทศไทยนานมาแล้ว
-วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับพระพุทธศาสนา จนกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา ประจำชาติไทย
๓.ให้นักเรียนตอบคำถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่กำหนดให้ จัดทำเป็นผลงานศาสนาประจำชาติไทย แล้วนำเสนอผลงานที่หน้าชั้น
กิจกรรมที่ ๒ เรื่อง สัญลักษณ์ประจำชาติไทย
๑.ครูนำภาพธงชาติไทยหรือธงของจริง มาให้นักเรียนดู แล้วซักถามนักเรียนเกี่ยวกับความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ
๒.ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปเกี่ยวกับความหมายของสีในธงชาติไทย ดังนี้
-สีแดง แทน ชาติ
-สีขาว แทน ศาสนา
-สีน้ำเงิน แทน พระมหากษัตริย์
๓.ครูอภิปรายเพิ่มเติมให้นักเรียนฟังว่า พระพุทธศาสนา นอกจากเป็นศาสนาประจำชาติไทยแล้ว ยังถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย เพราะในธงชาติไทยได้ใช้สีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนศาสนาที่คนไทยนับถือ ซึ่งก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง
๔.ให้นักเรียนระบายสีธงชาติไทยให้ถูกต้อง และชี้บอกว่า แถบสีใดแทนพระพุทธศาสนาจัดทำเป็นผลงานชิ้นที่ ๒ สัญลักษณ์ประจำชาติไทย แล้วนำเสนอผลงานที่หน้าชั้น
กิจกรรมที่ ๓ เรื่อง พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
๑.ครูซักถามนักเรียนว่า พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้างให้
นักเรียนช่วยกันแสดงความคิดเห็น
๒.ครูนำภาพคนกำลังใส่บาตร คนกำลังเวียนเทียน การบวชพระ มาให้นักเรียนดู แล้วครู ซักถามนักเรียนว่า เคยทำหรือเคยเห็นเหตุการณ์อย่างในภาพหรือไม่
๓.ครูสนทนากับนักเรียนว่า พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยหลาย
เรื่อง เช่น
-ทุกเช้าจะมีพระสงฆ์ออกบิณฑบาตตามบ้านเรือน และมีผู้คนคอยใส่บาตรพระสงฆ์
-ชายไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ถือเป็นประเพณีว่า เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ควรบวชเพื่อศึกษาพระธรรม
-ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะไปร่วมทำบุญตักบาตรและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
๔.ให้นักเรียนสำรวจตนเองว่า เคยทำสิ่งใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยขีด / ทับข้อความ ขีด / ลงในตารางตามความเป็นจริง และขีด / หรือกา X ทับภาพที่ถูกต้อง พร้อมกับบอกเหตุผล จัดทำเป็นผลงานชิ้นที่ ๓ พุทธศาสนิกชนที่ดี แล้วนำเสนอผลงานที่หน้าชั้น
กิจกรรมที่ ๔ เรื่อง พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
ให้นักเรียนติดภาพ หรือวาดภาพเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของชาวพุทธที่ดี ที่ตนเองเคยปฏิบัติและอยากปฏิบัติมาอย่างละ ๑ ภาพ พร้อมกับเขียนบอกว่า เป็นการกระทำในเรื่องใด จัดทำเป็นผลงานชาวพุทธที่ดี จากนั้น นำผลงานมาแลกเปลี่ยนกันดูกับเพื่อนในชั้นเพื่อแนะนำให้เพื่อนๆ นำไปปฏิบัติ แล้วผลัดกันออกมารายงานที่หน้าชั้น
๓. ขั้นสะท้อนความคิด
ให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนออกมารายงานผลการทำกิจกรรมแล้วนำเสนอผลงาน จากนั้นนำผลงานมาจัดป้ายนิเทศ
๔. ขั้นทฤษฎี
๑.ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรม ถ้านักเรียนรายงานผลการทำกิจกรรมในขั้นสะท้อนความคิดไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ ให้ครูเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง
๒.ครูให้นักเรียนศึกษาสาระการเรียนรู้จาก ใบความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
๕. ขั้นนำไปใช้
กิจกรรมที่ ๕ เรื่อง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ให้นักเรียนอภิปรายกลุ่มว่า จะนำความรู้ที่ได้จากการเรียนเรื่อง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร สรุปผลการอภิปรายและเขียนเป็นแผนผังความคิด จัดทำเป็นผลงานแผนผังความคิด แล้วนำเสนอผลงานที่หน้าชั้น
๖. ขั้นสรุป
๑. ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย จากนั้น ครูตรวจแบบฝึกหัดพร้อมกับเฉลยคำตอบ
๒. ให้นักเรียนอภิปรายและซักถามเพิ่มเติม แล้วเก็บผลงานไว้ในแฟ้มผลงานนักเรียน จากนั้น
ครูนัดหมายการเรียนครั้งต่อไป
สื่อการเรียนรู้
๑.ใบผลงานและวัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดไว้ในใบผลงาน
๒.ใบความรู้เรื่อง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
การประเมินผล
๑.ประเมินตามสภาพจริง
๑.๑ สังเกตการทำกิจกรรมของนักเรียน
๑.๒ ฟังรายงานผลการทำกิจกรรมของนักเรียน
๒.ตรวจผลงานในแฟ้มผลงานนักเรียน
๓.ตรวจแบบฝึกหัดเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
เกณฑ์การประเมินผล
เกณฑ์การประเมินคุณภาพของผลงานที่นักเรียนทำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น