Mind Map หรือ Mind-Map แปลตรงตัวว่าแผนที่ความคิด เป็นทฤษฎีในการนำเอาสมองมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ทฤษฎีนี้คิดขึ้นโดยโทนี บูซาน (Tony Buzan) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ในปัจจุบันทฤษฎีของโทนี บูซาน ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำมาช่วยในการเขียนแผนที่ความคิด การเขียนแผนที่ความคิดในอดีตจะเน้นเขียนลงบนกระดาษว่างๆ จากจุดศูนย์กลาง กระจายเป็นรูปดาวคล้ายๆ การแตกกิ่งก้านของต้นไม้ (การแตกของเส้นเซลสมอง) ปัจจุบันมีทางลัดในการสร้างแผนที่ความคิดโดยการใช้ทูลหรือซอฟต์แวร์ช่วย (มีให้เลือกใช้งานหลายตัวทั้ง Commercial และ Open Source) ข้อดีของการใช้ซอฟต์แวร์คือสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้อย่างอิสระ มีตัวอย่างแผนที่ความคิดให้เลือกใช้งานมากมาย
โทนี บูซาน (Tony Buzan)
Mind Map เป็นแผนผัง (Diagram) ใช้เพื่อแสดงคำหรือแนวความคิดของมนุษย์ที่แผ่ออกออกจากศูนย์กลาง ใช้การสื่อความหมายด้วยข้อความและรูปภาพคล้ายๆ การแตกกิ่งก้านของต้นไม้. Mind Map ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นจุดกำเนิด หรือจุดเริ่มต้นในการทำงานต่างๆ, การจินตนาการ
Mind Map ช่วยทำให้สิ่งต่างๆ มองภาพได้ง่ายขึ้น อาทิ
• สร้างจากสิ่งที่เป็นนามธรรมสู่รูปธรรม
• ช่วยในการเรียนรู้ต่างๆ ของมนุษย์
• ใช้แก้ปัญหาปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
• ใช้ในการทำการตัดสินใจกรณีมีทางเลือกหลายๆ ทาง
การนำไปประยุกต์ใช้งาน
ผู้ใช้สามารถนำโปรแกรมไปสร้างสรรค์งานได้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น
ใช้สร้างแผนที่ความคิด (Mind Map)
ใช้สรุปรายงานการประชุม (Meeting minutes)
ใช้ระดมความคิดเห็น (Brain storming )
ใช้ประกอบการเรียนการสอน (Teaching)
ใช้วางแผนโครงการ (Project planning)
ใช้นำเสนอผลงานแทนโปรแกรม PowerPoint (Presentation)
ใช้ในการอบรมและบรรยายที่ต่างๆ (Training)
ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ความรู้ แนวคิด (capture tacit knowledge )
ใช้สรุปแนวคิดเชิงประดิษฐ์และการคิดวิกฤต(คิดก่อนล่วงหน้า) (creative and critical thinking)
ใช้สร้างผังงานต่างๆ เช่น ผังองค์กร ผังก้างปลา
ฯลฯ
หมวกคิด 6 ใบ six Thinking Hats
หมวกคิด 6 ใบ คือวิธีการสอนทักษะการคิด ของ Edward De Bono (2545) โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดในด้านต่าง ๆ โดยใช้สีของหมวก คือ สีแดง สีดำ สีขาว สีเขียว สีเหลือง และสีฟ้า เป็นชื่อหมวก สีของหมวกแต่ละใบสอดคล้องกับแนวความคิดของหมวกแต่ละใบ สีของหมวกแทนประเภทของการคิดแต่ละแบบ ถ้าผู้เรียนสวมหมวกสีใด ผู้เรียนต้องคิดตามความหมายของสีหมวกนั้น ๆ การเปลี่ยนหมวกแต่ละสี คือการเปลี่ยนรูปแบบของการคิดเป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมทักษะการคิด อารมณ์ ความรู้สึก และสามารถพัฒนาให้เยาวชนมีทักษะการคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากการคิดแบบหมวกคิด 6 ใบ เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้เรียน คิดแตกต่างไปจากแนวความคิดเดิม ๆ ซึ่งเรียกว่าการคิดนอกกรอบ หรือการคิดแนวขนาน (Creative or Parallel Thinking) ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือต้องการให้ผู้เรียนมีความสมดุลทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา และสังคม มีทักษะการคิดระดับสูง มียุทธศาสตร์การคิดของตนเอง และควบคุมการคิดของตนเองได้
สรุปศัตรูที่สำคัญของการคิดคือ ความยุ่งยากซับซ้อนเพราะจะนำไปสู่ความสับสน หากการคิดเป็นไปอย่างชัดเจนและไม่ยุ่งยาก การคิดจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกและความคิดที่มีประสิทธิภาพมาก วิธีคิดแบบหมวกคิด 6 ใบ มีเป้าหมายคือ ทำให้การคิดง่ายขึ้นโดยผู้คิดคิดแต่ละด้านอย่างรอบคอบ ช่วยให้ผู้คิดสามารถจัดการแต่ละอย่าง แยกจากกัน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของวิธีคิดแบบหมวก 6 ใบนี้ก็เพื่อให้มีการสับเปลี่ยนแนวความคิดบ้าง วิธีนี้มีประโยชน์มากที่สุด ถ้าทุกคนในกลุ่มหรือองค์กรมีความเข้าใจเรื่องตรงกัน และร่วมมือกันสวมบทบาทสมมติ ทำตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ก็จะช่วยลดการประชุมที่มีการถกเถียงกันตลอดเวลาและสามารถนำพาทุกคนไปสู่จุดมุ่งหมายหลักของตนและขององค์กรได้ด้วยการคิดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า “ เมื่อใดที่เราเปลี่ยนความคิดได้ เมื่อนั้นเราก็เปลี่ยนวิถีชีวิตได้”
หากผู้สอนนำวิธีคิดหมวกคิด 6 ใบมาสอดแทรกในกระบวนการคิดในรูปแบบต่างๆ เช่น การคิดแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดสร้างสรรค์ โดยมีการเตรียมขั้นตอนการสอนคิดแบบหมวกคิด 6 ใบให้เหมาะสมกับหัวเรื่อง จะสามารถลดระยะเวลาในการคิดของผู้เรียน และเพิ่มคุณภาพของการคิดมากขึ้น กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเสนอความคิดในเรื่องนั้นได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจะทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในการคิดแต่ละครั้ง เป็นการกำหนดทิศทางให้ผู้เรียนคิด เพียงด้านเดียว แทนการให้ผู้เรียนคิดหลายด้านพร้อมกัน
การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน
แนวคิด การสอนแบบโครงงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความสนใจของผู้เรียนอย่างลุ่มลึก โดยผ่านกระบวนการหลักคือ กระบวนการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง จึงเป็นการเรียนรู้จากการได้มีประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้
ความหมาย การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดประสบการณ์ให้แก่นักเรียนเหมือนกับการทำงานในชีวิตจริง
วัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน
1. มีประสบการณ์โดยตรง
2. ได้ทำการทดลองและพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3. รู้จักการทำงานอย่างมีระบบ มีขั้นตอน
4. ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
5. ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา
6. ได้รู้จักวิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา
7. ฝึกวิเคราะห์ และประเมินตนเอง
ขั้นตอนในการสอนทำโครงงานการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมี 4 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดความมุ่งหมายและลักษณะโครงงานโดยตัวนักเรียนเอง
2. วางแผนหรือวางโครงงาน นักเรียนต้องช่วยกันวางแผนว่าจะทำอะไร ใช้วิธีการหรือกิจกรรมใด จึงจะบรรลุจุดมุ่งหมาย
3. ขั้นดำเนินการ ลงมือทำกิจกรรมหรือแก้ปัญหา
4. ประเมินผล โดยประเมินว่ากิจกรรมหรือโครงงานนั้นบรรลุผลตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ มีข้อบกพร่อง และควรแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร
วิธีการทำโครงงาน
1. ประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับหัวข้อของโครงงาน จากสิ่งต่อไปนี้
- การสังเกต หรือตามที่สงสัย
- ความรู้ในวิชาต่าง ๆ
- จากปัญหาใกล้ตัว หรือการเล่น
- คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ หรือผู้รู้
2. เขียนหลักการ เหตุผล ที่มาของโครงงาน
3. ตั้งวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน
4. กำหนดวิธีการศึกษา เช่น การสำรวจ การทดลอง เป็นต้น
5. นำผลการศึกษามาอภิปรายกลุ่ม
6. สรุปผลการศึกษา โดยการอภิปรายกลุ่ม
7. ปรับปรุงชื่อโครงงาน ให้ครอบคลุม น่าสนใจ
การประเมินผลการทำโครงงาน
1. ชื่อเรื่องแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
2. ชื่อเรื่องมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาคำถามมีการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิด
3. สมมติฐานมีการแสดงถึงพื้นฐานความรู้เดิม
4. วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหา
5. แหล่งศึกษาสามารถค้นคว้าคำตอบได้
6. วิธีการนำเสนอชัดเจน เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น